ยินดีต้อนครับเข้าสู่พลศึกษา และการกีฬาแห่งประเทศไทย Information and Communication Technology for Teachers เขียนโดย sutida ที่ 15:23

วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557


ประวัติพลศึกษาในประเทศไทย


ประวัติพลศึกษาในประเทศไทย

ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๗ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้เขียนบทความเรื่อง "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ลงพิมพ์ในหนังสือ "ล้อมรั้ว" และในเวลาไล่เรี่ยกันก็ได้มีหนังสือกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกสภากรรมการจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ แถลงแนวคิดเกี่ยวกับการที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในอนาคต



แหล่งที่มา






"โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

มหาวิทยาลัยเป็นอาภรณ์สำหรับมหานครที่รุ่งเรืองแล้ว มหานครใดมีมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อเสียงสมจะอวดได้ ก็ย่อมเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติคุณของมหานครนั้น แม้ประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของมหานครอันประกอบด้วยเกียรติคุณเช่นนั้น ก็ย่อมได้ชื่อเสียงปรากฏความรุ่งเรืองแผ่ไพศาลไปในทิศทั้งปวงด้วย กรุงเทพมหานครของเรานี้ ได้ก้าวขึ้นสู่ความรุ่งเรืองแล้ว จึงได้เริ่มมีมหาวิทยาลัยสำหรับจะเป็นอาภรณ์อย่างมหานครอื่น ๆ แต่การพึ่งได้เริ่มเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๓ เมื่อประกาศตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในต้นรัชกาลนี้ เป็นเวลาเพียง ๔ ปีเท่านั้น ความเป็นไปของโรงเรียนซึ่งเป็นรากเหง้าเค้าเงื่อนของมหาวิทยาลัยในข้างหน้ายังไม่ทันปรากฏแก่ตามหาชน ข้าพเจ้าผู้ได้ทราบการงานของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จึงขอแถลงการณ์ทั้งอดีต ปัตยุบันและอนาคตของมหาวิทยาลัยนี้ เพื่อให้มหาชนชาวเราทราบไว้พอเป็นเค้า จะได้เป็นเครื่องส่งเสริมความปีติยินดีว่า พระมหานคร อันเป็นที่เชิดชูเกียรติคุณของประเทศที่รักแห่งเราก็จะได้มีมหาวิทยาลัยพอจะอวดเขาได้สักวันหนึ่ง เพราะในบัดนี้มหาวิทยาลัยนั้นได้สมภพแล้ว แต่หากยังเยาว์วัยอยู่เท่านั้น
จำเดิมแต่กระทรวงมหาดไทย ได้เริ่มจัดการปกครองมณฑลหัวเมืองตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๔๐ กระทรวงมหาดไทยก็ได้จัดการฝึกหัดกุลบุตรขึ้นในกระทรวง สำหรับส่งออกไปรับราชการตามหัวเมือง ครั้นล่วงมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราชตั้งพระราชหฤทัยจะทรงอุปถัมภ์ให้การฝึกหัดกุลบุตร สำหรับเข้ารับราชการเป็นการมั่นคงสำหรับประเทศบ้านเมืองต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกวิชาฝึกหัดข้าราชการพลเรือนจากกระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนต่างหาก เรียกว่า โรงเรียนมหาดเล็ก มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คือ ท่านเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ซึ่งเวลานั้นยังเป็นพระยาวิสุทธ สุริยศักดิ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก และมีกรรมการเป็นที่ปฤกษาด้วย นักเรียนโรงเรียนนี้ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก มีตำแหน่งเฝ้า เพื่อให้คุ้นเคยกับราชการในพระราชฐานไว้สำหรับจะได้เป็นปัจจัยให้เกิดความรอบรู้และความสามารถในหน้าที่ราชการ ซึ่งจะได้กระทำต่อไปในภายหน้ายิ่งขึ้น พระราชประสงค์ข้อนี้ มีนัยอันพึงยกมาอธิบายไว้ให้ละเอียด ดังต่อไปนี้
ตามโบราณราชประเพณี บรรดาข้าราชการ เมื่อมีบุตรอายุสมควรแล้ว ก็นำถวายตัวเป็นมหาดเล็ก มีธรรมเนียมมาแต่ก่อนว่า ผู้ที่จะถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ถวายได้แต่บุตรข้าราชการชั้น สัญญาบัตร เรียกว่า มหาดเล็กวิเศษ ส่วนลูกหมู่มหาดเล็กเดิมนั้นเรียกว่า มหาดเล็กเวร การถวายตัวเป็นมหาดเล็กเป็นสำคัญ ฉะเพาะมหาดเล็กวิเศษ ผู้มีตำแหน่งเฝ้าในท้องพระโรง และได้รับราชการใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลก่อน ๆ ตลอดมาจนตอนต้น ๆ ของรัชกาลที่ ๕ ราชการบ้านเมืองว่าหน้าพระที่นั่งในท้องพระโรงเวลาเสด็จออก มหาดเล็กได้โอกาสศึกษาราชการ บางทีเป็นมหาดเล็กรายงานได้โอกาสรับราชการด้วยตนเองด้วย จนกว่าอายุจะถึงเวลาสมควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการมีตำแหน่งในกระทรวงต่าง ๆ วิธีเก่าดังได้เคยใช้มาแล้วมีประโยชน์สำคัญ ๒ อย่าง คือ (๑) ข้าราชการที่ได้เป็นมหาดเล็กมาก่อนได้ศึกษารู้ขนบธรรมเนียมราชการดังที่ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอในเวลาเฝ้าในท้องพระโรง เปรียบเหมือนท้องพระโรงนั้นเองเป็นโรงเรียนสำหรับราชการทั่วไปที่สำคัญ (๒) ได้เคยอยู่ใกล้ชิดพระองค์เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรู้จักคุ้ยเคยและทรงทราบอัชฌาสัยความสามารถของผู้นั้น ๆ ได้สนิทสนมดีกว่าข้าราชการที่ขึ้นจากขุนหมื่นนายเวรในกระทรวงทะบวงการ ซึ่งไม่เคยเข้าใกล้พระองค์ แต่ธรรมเนียมดีอันนี้ภายหลังต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นของสมัยที่ราชการทวีมากขึ้น การกระทรวงต้องแบ่งแยกความรับผิดชอบเป็นชั้น ๆ ละเอียดยิ่งขึ้น และต้องมีสำนักงานเป็นที่ทำการราชการไม่ได้ว่าในท้องพระโรงเหมือนแต่ก่อน ข้าราชการต่างกระทรวง ซึ่งจะสามารถทำการได้ดังวิธีราชการชั้นหลัง ต้องเป็นผู้ที่ได้เล่าเรียนมีความรู้มาแต่โรงเรียน จึงต้องหาคนจากโรงเรียนมารับราชการตามกระทรวง มหาดเล็กในชั้นหลังก็ขาดการเล่าเรียนเช่นนั้นเสียด้วย ครั้นคนมาแต่ที่อื่นมีตำแหน่งสูง ๆ มากขึ้น จึงรู้สึกว่าข้าราชการห่างเหินกับพระเจ้าอยู่หัวไปไม่เหมือนดังแต่ก่อน ว่าโดยย่อ คนเหล่านั้นไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมในพระราชสำนัก และพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงรู้จัก เพื่อจะให้ได้ประโยชน์ทั้งอย่างเก่าและอย่างใหม่รวมกัน พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระดำรงราชานุภาพ เวลานั้นยังเป็นพระเจ้าน้องยาเธอได้นำความกราบบังคมทูล เรียนพระราชปฏิบัติในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กขึ้น และโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กถวายตัวเป็นมหาดเล็กด้วย ดังกล่าวแล้วแต่เบื้องต้น
ต่อมาเมื่อขึ้นรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรารัชกาลที่ ๖ พอเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็ทรงพระราชดำริจะใคร่ให้การโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งสมเด็จพระบรมชนกาธิราชได้ทรงสฐาปนาขึ้นไว้ เจริญยิ่งขึ้นสมพระราชประสงค์ เป็นเครื่องเชิดชูและเฉลิมพระบรมนามาภิธัยในสมเด็จพระปิยมหาราชและเป็นพระราชกุศลบุญนิธิและพระกตัญญูกตเวทีธรรมคุณในส่วนทรงพระองค์ที่ทรงส่งเสริมพระราชกรณียกิจแห่งสมเด็จพระชนกนารถให้สำเร็จสมดังพระมโนรถจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขยายหลักสูตรวิชาโรงเรียนมหาดเล็ก และพระราชทานนามใหม่ว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อไปนี้ข้าพเจ้าขอคัด ประกาศเรื่องนี้ ซึ่งออกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๓ เป็นวันที่ ๕๒ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ฉะเพาะแต่ส่วนหนึ่งมาลงไว้ให้ปรากฏดังนี้ "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า บัดนี้การปกครองท้องที่ก็ลงระเบียบแบบแผนอยู่แล้ว เป็นอันมิใช่ว่าการปกครองนั้นเป็นฉะเพาะหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและนครบาล กระทรวงอื่นย่อมมีหน้าที่ซึ่งจะจัดการเป็นการอาศรัยซึ่งกันและกันและรับผิดชอบด้วยกันทั่วทั้งพระราชอาณาจักร รวมนับว่าเป็นการปกครองของรัฐบาลอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่การฝึกหัดข้าราชการพลเรือน สำหรับส่งคนออกไปรับราชการกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวนั้นหาพอเพียงแก่ราชการปกครองพระราชอาณาจักรทุกวันนี้ไม่ สมควรจะขยายการโรงเรียนให้กว้างขวางออกไป สำหรับส่งคนไปรับราชการทุกกระทรวงทะบวงการ จัดการโรงเรียนให้เป็นแผนกวิทยาต่าง ๆ เช่น กฎหมาย ปกครอง การต่างประเทศ การเกษตร การช่าง และการแพทย์ เป็นต้น ด้วยทรงทราบพระราชประสงค์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงซึ่งทรงเริ่มจัดการเล่าเรียน สำหรับจัดการปกครองทั่วไปโดยตระหนักดังนี้ แต่การที่จะจัดการโรงเรียนเช่นนี้เป็นการใหญ่ต้องการทุนรอนเพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นอันมาก จึงมีพระราชปรารภว่าเงินซึ่งราษฎรเรี่ยรายกันสร้างพระบรมรูปทรงม้า เป็นอนุสสาวรีย์ถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระปิยมหาราชของประชาราษฎร์ คงมีเหลืออยู่จากการสร้างพระบรมรูป มีจำนวนนับด้วยแสนบาท สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชดำริไว้แล้วที่จะจัดการสร้างสิ่งถาวรวัตถุอันจะแผ่สาธารณประโยชน์ตอนแทนพระราชทานแก่ราษฎร แต่ยังไม่ได้ตกลงประการใดนั้น ควรจะจัดการให้เป็นประโยชน์ตามพระราชประสงค์ต่อไป จึงทรงพระราชดำริว่า ประโยชน์สิ่งใดไม่ยิ่งกว่าการปกครองราษฎรให้มีความสุขความเจริญ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงเริ่มจัดการโรงเรียนไว้สำหรับกุลบุตรที่จะรับราชการฝ่ายพลเรือนดังนี้แล้ว ควรจะขยายการให้กว้างขวางต่อไปตามพระราชประสงค์ ทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรเรี่ยรายกันสร้างอนุสสาวรีย์ปิยมหาราช ควรจะใช้ในการจัดโรงเรียนนี้ แต่การโรงเรียนนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับกระทรวงทะบวงการทั่วไปจึงควรจะมีกรรมการดำริและจัดการให้เป็นรูปก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน พระราชทานนามปรากฏว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชดำริห์เริ่มตั้งขึ้นไว้ และจะใช้ทุนที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อเป็นพระเกียรติยศในพระบรมนามาภิธัยด้วย (ทุนรายนี้บัดนี้โรงเรียนได้นำฝากไว้ที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้แล้วเป็นเงิน ๙๕๐,๙๘๒ บาท ๓๙ สตางค์) และให้มีกรรมการเป็นสภาอันหนึ่ง มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระบรมราชูปถัมภกแห่งโรงเรียนนี้ ในสมาชิกของกรรมการจัดการโรงเรียนนี้ให้มีสภานายกผู้ หนึ่ง สำหรับวินิจฉัยกิจการก่อนที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา และมีเลขานุการสำหรับเป็นผู้จัดการตามคำสั่งของสภานายก และให้เสนาบดีกระทรวงซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการที่จะต้องปฤกษาในสภานี้เป็นสมาชิกพิเศษของสภานี้ตามเวลาที่จะมีกิจอันเกี่ยวเนื่องกัน และนักเรียนก่อนที่จะออกรับราชการนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กตามพระราชประเพณีเดิม

กรรมการซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็นชุดแรกนั้น คือ
สภานายก มหาอำมาตย์เอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
กรรมการ นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
กรรมการ มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี
กรรมการ มหาเสวกตรี พระยาศรีวรวงษ์ สภาเลขานุการ
กรรมการ มหาอำมาตย์ตรี พระยาธรรมศักดิ์มนตรี

แล้วภายหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรเสนาบดีกระทรวงยุตติธรรม กับอำมาตย์โท หลวงพินิตนิตินัย ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษและผู้จัดการโรงเรียนกฎหมาย เป็นกรรมการขึ้นอีก ๒ ท่าน
กรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนได้รู้สึกอยู่แล้วแต่เบื้องต้นที่จะเริ่มจัดการนั้นว่า การจัดโรงเรียนข้าราชการพลเรือนตามรูปที่ประกาศนั้นเป็นการใหญ่ จำจะต้องตั้งความมุ่งหมายและดำเนินการให้เหมาะแก่ความประสงค์ของราชการในภายหน้าไปเสียแต่บัดนี้ทีเดียว และส่วนการที่เป็นอยู่แล้วอย่างไรในปัตยุบัน ก็อย่าต้องให้เนิ่นช้าหรือเสื่อมถอย เพราะเหตุที่จัดวางรูปการใหม่นี้ เหตุฉะนั้นในการที่จะรวมโรงเรียนอุดมศึกษาฝ่ายการพลเรือนซึ่งมีอยู่แล้วในกระทรวงต่าง ๆ คือ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนแพทย์ ให้เข้าอยู่ในระเบียบการของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นระเบียบเดียวกันเพื่อให้การรวบรัดเข้า กรรมการจึงได้ทำความตกลงในเบื้องต้นนี้ว่าโรงเรียนใดขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของกระทรวงใด คือ โรงเรียนกฎหมายขึ้นกระทรวงยุตติธรรม โรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนราชแพทยาลัยขึ้นกระทรวงธรรมการ ก็ขอให้กระทรวง นั้น ๆ คงบังคับบัญชาการไปตามเดิมก่อน เป็นแต่วางกำหนดระเบียบการเป็นบรรทัดทางให้ทราบกันไว้ และเมื่อจะแก้ไขสิ่งใดก็ให้ได้รับมติของกรรมการก่อน เมื่อกรรมการได้ดำริและจัดหาสถานที่เตรียมการพรักพร้อมที่จะยกไปรวมกันได้เมื่อไรแล้ว จึงจะได้รับโรงเรียนนั้น ๆ ไปตั้งรวมกันเป็นลำดับไปตามสมควรแก่เวลาเมื่อนั้น สภานายกกรรมการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานตั้งตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้น ได้ทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ตั้งให้มหาเสวกตรี พระยาศรีวรวงษ์ สภาเลขานุการ ผู้มีหน้าที่อำนวยการโรงเรียนแผนกปกครองอยู่แล้ว เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนคนแรก แต่วันที่ ๒๑ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๕

ครั้นวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาเสวกตรี พระยาศรีวรวงษ์ เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงมุรธาธร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มหาอำมาตย์ตรี พระยาธรรมศักดิ์มนตรีปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนไปพลางก่อน ระเบียบการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนซึ่งจะรวมโรงเรียนอุดมฝ่ายการพลเรือนแผนกต่างๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้นเข้าเป็นอันเดียวกัน ซึ่งได้ทำไว้แล้วแต่ครั้งมหาเสวกตรี พระยาศรีวรวงษ์ยังเป็นผู้บัญชาการอยู่นั้น ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาต ให้ตราไว้เป็นระเบียบต่อไปได้แต่วันที่ ๓ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ โรงเรียนจึงได้รวบรวมส่งพิมพ์เป็นเล่ม ซึ่งคงจะเสร็จและออกประกาศได้ในไม่ช้านี้

ในลำดับนี้โรงเรียนซึ่งได้ตั้งขึ้นแล้วที่วังประทุมวัน และซึ่งตั้งใจจะจัดให้เป็นโรงเรียนแผนกยันตรศึกษา ก็ได้จัดหลักสูตรและเริ่มการสอนวิชายันตรศึกษา โดยกรมรถไฟสายใต้ให้ความอนุเคราะห์ส่งนายรณชิตช่างกลมาเป็นผู้สอนวิชาช่างกลเป็นรายชั่วโมง ส่วนวิชาอื่น ๆ มีคณนาวิทยาเป็นต้น ก็ได้จัดหาครูบาอาจารย์ประจุเข้าโดยควรแก่วิชา กำหนดหลักสูตรเป็น ๔ ปี ๆ สุดท้ายเป็นปีฝึกหัด เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว กรมรถไฟจะรับเข้าทำงานในกรมรถไฟแห่งหนึ่ง การวิชายันตรศึกษาแผนกอื่น ๆ มีแผนกไฟฟ้าและสุขาภิบาลเป็นต้น เมื่อถึงเวลาขยายก็จะได้ขอความช่วยเหลือของกรม และกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องการช่างกลนั้น ๆ เพื่อขยายแยกโดยลำดับไปเป็นสาขาๆ นักเรียนยันตรศึกษาของเราที่ศึกษาวิชายันตรศึกษาอยู่ณต่างประเทศ สำหรับจะเป็นอาจารย์ยันตรศึกษาก็มีอยู่หลายคน ในสามปีข้างหน้าคงจะได้กลับมาบ้าง จะพอดีแก่การโรงเรียนยันตรศึกษาซึ่งได้เริ่มตั้งเค้าไว้ณบัดนี้ วิชายันตรศึกษาเป็นวิชาสำคัญมากสำหรับบ้านเมืองเราอย่างหนึ่ง เพราะเรากำลังขยายการติดต่อ ได้แก่การรถไฟ โทรเลขโทรศัพท์ ถนนหนทางทั้งบกและน้ำ กับการก่อสร้างสถานที่มั่นคงต่าง ๆ อีกเหลือนับจะพรรณา การเหล่านี้ย่อมต้องอาศัยวิชาช่างกลทั้งสิ้น ในชั้นต้นนี้เราก็พออาศรัยชาวต่างประเทศให้ช่วยทำให้ได้ แต่เมื่อต่อไปภายหน้าจำจะต้องขยายการกว้างขวางออกไปทุกที ไหนจะการที่ทำใหม่ และไหนจะการรักษาของเก่าที่ได้ทำขึ้นแล้ว เราจะต้องใช้นายช่างกลเป็นจำนวนมาก เราจะไม่คิดเตรียมฝึกคนของเราขึ้นไว้ใช้หรือ ลำพังที่จะคิดส่งนักเรียนไปเรียนที่ต่างประเทศก็จะไม่ได้กี่คนนักเพราะเราต้องเสียเงินแพงและลำพังคอยแต่จะอาศัยคนอื่นให้เขาทำให้ร่ำไปก็ดูกระไรอยู่ เหตุฉะนั้นวิชาของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนแผนกนี้น่าจะได้รับความอุดหนุนของมหาชนชาวเราไม่น้อยกว่าวิชาแผนกอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น แพทย์และกฎหมาย

โรงเรียนข้าราชการพลเรือนนี้ โดยพระราชประสงค์จะจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยมีการสอนวิชาถึง ๘ แผนก หนทางที่จะจัดต่อไปว่าโดยกำหนดส่วนสถานที่ก็มีอยู่ ๓ วิธีคือ

(๑) ให้วิทยาลัยทุกแผนกตั้งแยกกันอยู่เช่นในปัจจุบันนี้ แต่ให้รวมอยู่ในกองบัญชาการอันเดียวกัน กองบัญชาการนั้นจะตั้งอยู่ณที่ใดก็ได้ มหาวิทยาลัยกรุงลอนดอนแต่ก่อนจัดอย่างนี้
(๒) ให้วิทยาลัยทุกแผนกรวมอยู่ในจังหวัดเดียวกัน เช่นมหาวิทยาลัยออกสฟอร์ด เคมบริช และฮ่องกง
(๓) ให้วิทยาลัยต่าง ๆ ตั้งรวมกันบ้าง แยกกันบ้างตามแต่สะดวก เช่นมหาวิทยาลัยกรุงลอนดอนเดี๋ยวนี้ และมหาวิทยาลัยกรุงโตกิโอ และที่อื่น ๆ อีกมาก

วิธีที่ ๑ ไม่เหมาะสำหรับเราเพราะเป็นการกระจายกำลัง ต้องมีอาจารย์และพนักงานและสถานที่แยกกันเป็นชุด ๆ ไป ประเทศเรามีนักเรียนน้อยใช้วิธีนี้ไม่ได้ แพงมาก วิธีที่ ๒ จัดได้ถูกเพราะเป็นกรรมการกำลังทั้งคนและที่ อะไรควรใช้รวมกันได้ก็ไม่ต้องแยก วิธีที่ ๓ นั้นเป็นอันเดียวกับวิธีที่ ๒ แต่บางแผนกที่ยังไม่สะดวกจะรวมกันได้ก็ปล่อยให้แยกไปก่อน แผนกที่แยกอยู่เช่นนี้ โดยมากย่อมเป็นวิทยาลัยเก่าที่ตั้งอยู่แล้วแต่เดิม พึ่งยกเข้าสมทบ ไม่ใช่เป็นแผนกตั้งขึ้นใหม่ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของเราจะต้องจัดด้วยวิธีที่ ๓ นี้ เพราะเรามีทุนน้อย มีนักเรียนน้อยไม่ควรเอาอย่างในวิธีแพง กรรมการจึงได้กำหนดหาที่ดินไว้ให้พอแก่การรวม คือที่ตำบลประทุมวันซึ่งได้เช่าจองไว้แล้วเดี๋ยวนี้เป็นที่เกือบ ๔๐ เส้นตารางเหลี่ยม คือ ทิศเหนือจดถนนบำรุงเมือง ทิศใต้จดถนนหัวลำโพง ทิศตะวันออกจดถนนสนามม้า ทิศตะวันตกจดคลองสวนหลวง รวมเนื้อที่ ๑๒๗๗ ไร่ ๑ งาน ๑ ตารางวา ใหญ่กว่ามหาวิทยาลัยกรุงโตกิโอ อันไม่นับวิทยาลัยแผนกกสิกรรมซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปเป็นคนละต่างหากกับจังหวัดวิทยาลัยอื่น ๆ จริงอยู่การย้ายวิทยาลัยมีอยู่แล้วไปรวมตั้งในที่อื่นต้องลงทุนรอนมาก มีการก่อสร้างเป็นต้น แต่นั่นเป็นการลงทุนเพื่อให้โสหุ้ยรายจ่ายถูกลงด้วยการรวมกำลัง ในประเทศอย่างของเรานี้มีสำมโนครัวน้อย มีนักเรียนน้อย ยิ่งกระจายโรงเรียนและต่างยิ่งให้เจริญขึ้นตามกัน จะยิ่งแพงขึ้นตามส่วนหนักขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอันตกลงจะใช้วิธีรวมกำลังแล้ว จึงต้องยอมลงทุนรวมกันเสียแต่ในชั้นต้นที่พึ่งเริ่มจัดณบัดนี้ โรงเรียนใดที่ได้ย้ายไปตั้งรวมกันแล้ว สถานที่เก่าของโรงเรียนนั้นย่อมต้องการเพื่อประโยชน์อย่างอื่น อันไม่จำเป็นจะจาระไนในที่นี้

มหาวิทยาลัยชั้นเก่า เช่นออกสฟอร์ดและเคมบริช สอนวิชาเป็นเครื่องประดับสำหรับนักปราชญ์และหัดการอยู่กินของนักเรียนเพื่ออบรมในทางสมาคมเป็นสำคัญด้วยส่วนหนึ่ง มหาวิทยาลัยชั้นใหม่ตั้งขึ้นด้วยความมัธยัสถ์จะให้งานสำเร็จได้ด้วยเงินน้อย จึงมุ่งหวังสอนวิชา ฉะเพาะที่ต้องการก่อน และให้ผู้เรียนสำเร็จแล้วออกไปทำงานได้ในวิชานั้น ๆ ทีเดียว นักเรียนก็เป็นนักเรียนกลางวันโดยมาก เพราะโสหุ้ยน้อย โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของเรา ได้บากทางไปข้างมหาวิทยาลัยชั้นใหม่แล้ว เราจึงกำหนดสอนวิชา ๘ แผนก ซึ่งเป็นวิชาที่เราต้องการมาก และนักเรียนของเราก็ต้องเป็นนักเรียนกลางวันโดยมาก แผนกต่าง ๆ ของเราที่มีอยู่แล้วในต่าง ๆกันในที่เวลานี้ คือเวชศึกษา (ที่วังหลัง) คุรุศึกษา (ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา) รัฏฐประศาสนศึกษา (แผนกการปกครอง ที่พระบรมมหาราชวัง) เนติศึกษา (ที่เชิงสพานผ่านพิภพลิลา) กับยันตรศึกษา ซึ่งได้เริ่มขึ้นแล้ว (ที่วังประทุมวัน)

ที่ดินที่กรรมการจัดหาไว้สำหรับรวมโรงเรียนข้าราชการพลเรือนนั้นตอนระหว่างถนนสนามม้ากับถนนพญาไท กำหนดไว้ว่าจะเป็นแดนวิทยาลัย และตอนตะวันตกของถนนพญาไท กำหนดว่าจะเป็นแดนสวนทดลอง การปลูกสร้างส่วนที่สำคัญ ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำอย่างแบบไทย เพื่อให้คู่ควรแก่พระมหานคร และให้ทำอย่างคงทนถาวรโดยอาศัยประโยชน์แห่งวิชาใหม่ ๆ เพื่อจะได้สืบพงศาวดารของชาติไทยไปชั่วกัลปาวสาน แผนกคุรุศึกษาและแผนกรัฏฐประศาสนศึกษาคงจะยกไปรวมได้ก่อน แต่แผนกเวชศึกษานั้นจำจะต้องมีการปลูกสร้างอีกมาก ถ้าจะทำอย่างมั่นคงทั้งหมดก็จะต้องลงทุนหลายล้านบาท เป็นอันยังทำไม่ได้ในเวลานี้ ตัวโรงเรียนหลังใหญ่หนึ่งหลังกับส่วนอื่น ๆ ที่จำเป็นจะต้องทำแน่นหนา เช่น โรงพิมพ์ เคมิสตรี และโรงทำการตรวจทรากศพจะต้องทำอย่างถาวรเสียทีเดียว นอกนั้นตลอดจนเรือนอยู่ควรทำเป็นอย่าง ชั่วคราวไปก่อน เพื่อให้การสำเร็จได้ด้วยจำนวนเงินเพียงที่มีอยู่แล้ว และได้ที่ทำงานเต็มต้องการไปแต่ในชั้นต้นนี้ทีเดียว ถ้างานได้ปรากฏขึ้นแก่ตาของมหาชนแล้ว เป็นที่เชื่อได้ว่าจะชวนให้ผู้ที่ประสงค์จะทำบุญเกิดศรัทธาและให้ทุนขึ้นก่อสร้าง ส่วนใดที่ได้มาเป็นรายย่อยก็รวมไว้ แต่ถ้าใครประสงค์จะปลูกสร้างให้ทั้งหลังในนามของผู้ให้ เช่น ตึกแม้นนฤมิตร และตึกเยาวมาลย์อุทิศที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ก็เลือกปลูกสร้างฉะเพาะหลังใดหลังหนึ่งก็ได้ ตามควรแก่จำนวนเงินที่จะให้มากและน้อย การปลูกสร้างเป็นถาวรบ้างชั่วคราวบ้างเช่นที่ว่ามานี้ อาจทำได้ถูกและมีเงินเหลือสำหรับแบ่งไว้เป็นทุนบ้าง ซื้อเครื่องสอนวิชาแพทย์ที่ยังขาดอยู่บ้าง จัดให้โรงเรียนแพทย์ได้มีเครื่องใช้บริบูรณ์ทำการได้ทันสมัยมากขึ้น เมื่อได้ลงทุนปลูกสร้างและรวมกำลังกันได้แล้วต่อไปจะขยายตั้งแผนกใดขึ้นอีกก็อาจขยายได้โดยง่ายด้วยวิธีใช้กำลังที่มีอยู่แล้วนั้นเองเจือจานไปก่อน ต่อเมื่อการใหม่ใหญ่โตขึ้นถึงแก่จะต้องเพิ่มเติม จึงแสวงการเพิ่มเติมตามควร ถ้าหากโรงเรียนทั้งหลายยังกระจัดกระจายกันอยู่ แผนกใดที่คิดจะขยับขยายเพิ่มเติมขึ้นก็ยากที่จะจัดให้สำเร็จได้ เพราะต้องลงทุนแพงมากในการที่ต้องจัดเพิ่มขึ้นใหม่ทั้งชุด การลงทุนเพื่อรวมกำลังไว้ในที่อันเดียวกัน จึงย่อมให้ประโยชน์ที่จะให้ได้มีวิชา ๘ แผนก เร็วเข้าได้ดังนี้ ส่วนการใช้จ่ายประจำนั้นเพราะเหตุที่มหาวิทยาลัยนี้เป็นของรัฐบาล จึงมีการเบิกจ่ายตามงบประมาณตามส่วนที่รัฐบาลจะพึงอนุญาตได้ดังที่ปฏิบัติอยู่ในเวลานี้แล้ว แปลกกันแต่ที่จะอาจสามารถขยายการได้มากกว่าปัจจุบัน ด้วยโสหุ้ยเท่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเหตุที่ได้มีการรวมกำลัง ตัดการเปลืองครูเปลืองพนักงานเปลืองเครื่องใช้ลงไปได้

มีปัญหาที่ควรยกขึ้นถามในที่นี้ข้อหนึ่งว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนให้จริงจัง ให้สมที่จะเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศสยาม คือนักศึกษาชั้นสูงมีพอแล้วหรือ อาจารย์ชั้นสูงจะมีได้โดยสมควรหรือ งานสำหรับผู้เรียนสำเร็จแล้วจะมีพร้อมคอยคนอยู่แล้วหรือ และเงินที่จะใช้จ่ายมีพอหรือ ในปัญหาข้อนี้ข้าพเจ้าตอบว่าถ้าจะให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นสูงสุดก็ยังไม่ถึงเวลา เพราะนักเรียนชั้นสูงของเราก็ยังไม่มีพอ เงินเราก็มีไม่พอที่จะจ้างอาจารย์แพง ๆ แต่งาน สำหรับให้ผู้เรียนสำเร็จแล้วได้ทำนั้น เราควรจะมีพอเป็นแน่ เราทั้งหลายควรทราบกันไว้ว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของเรานี้ แม้แต่ตั้งใจจะสอนวิชาถึง ๘ แผนก ก็ยังไม่จำเป็นจะต้องให้สูงลิ่วเสมอมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ในพริบตาเดียว มหาวิทยาลัยที่ตั้งกันขึ้นใหม่ ๆ เดี๋ยวนี้ ยกตัวอย่างเช่น ที่เมนเชสเตอร์ ลีดส์ เดอรแฮม ฮ่องกง ฯลฯ ก็ไม่ได้มีแต่นักเรียนสูง ๆ ทั้งนั้น นักเรียนชั้นรอง ๆ ลงมาก็มีถมไป ใครมีวิชาเป็นชั้นสูงก็เรียนสำหรับให้ได้ดีกรี ใครยังไม่ได้ถึงชั้นนั้นก็หมายเอาแต่ประกาศนียบัตรสำหรับประเภทวิชาที่เรียน ส่วนของเรา ๆ ก็ทำได้เช่นนั้นเหมือนกัน นักเรียนที่มีความรู้พ้นมัธยมชั้น ๘ แล้ว เราก็ยกขึ้นสำหรับให้เรียนวิชาชั้นบัณฑิต ถ้ามีความรู้เพียงมัธยมชั้น ๖ อย่างที่มาเข้าเรียนเตรียมอุดมของเราเดี๋ยวนี้ เราก็ให้เรียนเพียงหมายเอาประกาศนียบัตร โรงเรียนข้าราชการพลเรือนตั้งขึ้นก็เพื่อจะรวมโรงเรียนอุดมศึกษาแผนกพลเรือนเข้าด้วยกัน ที่เป็นมาแล้วมีครูมีนักเรียนและมีทุนรอนทำได้เพียงไร ต่อไปเราก็จัดโดยลักษณะนั้นเอง แปลกแต่เอามารวมกันเข้าเพื่อให้ลงรูป เพื่อให้เป็นการมัธยัสถ์เงินหลวง เพื่อให้เห็นแน่แท้ว่าเรามีอะไรอยู่บ้างแล้ว และเพื่อให้เป็นโอกาสขยายแผนกวิชาอื่น ๆ สะดวกเข้า เพราะได้มีการรวมกำลังกันเท่านั้น ถ้าจะแลดูโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในเวลานี้เพียงเท่านี้ก่อน ก็ต้องเปลี่ยนคำตอบว่าถึงเวลาทีเดียวที่จะรีบจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนให้จริงจัง จะให้เป็นเค้ามูลให้ได้เห็นมหาวิทยาลัยใหญ่ของเมืองไทย เฉลิมเกียรติแห่งกรุงเทพพระมหานครในไม่ช้า

ขอให้คิดดูว่าให้นักเรียนแพทย์ ๒๐๐ คน นักเรียนครู ๑๕๐ คน นักเรียนรัฏฐประศาสนศึกษา ๑๐๐ คน นักเรียนยันตรศึกษา ๑๕๐ คน รวม ๔ แผนกเท่านี้ก็ ๖๐๐ คนเสียแล้ว ยังจะมีอาจารย์และพนักงานตลอดจนคนงานทั้งหมดราว ๑๐๐ คน ก็ในคนจำนวนมากถึงเพียงนี้ ถ้าได้ไปอยู่ในที่แห่งหนึ่งเสมอทุกวัน ที่แห่งนั้นจะไม่คับคั่งขึ้นหรือ ร้านขายหนังสือก็จะเกิดขึ้น ร้านขายของกิน ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ ตัดเกือก ก็จะเกิดมีขึ้นตาม ๆ กัน ร้านเหล่านี้จะตั้งที่ไหน คงต้องตั้งใกล้คน คือในเขตต์บริเวณของมหาวิทยาลัยอันใหญ่กว้างนั้นเอง ตามแต่โรงเรียนจะกะให้ ดังนี้โรงเรียนก็ย่อมมีทางจะได้ผลประโยชน์จากผู้ต้องการเช่าที่เหล่านั้น ทั้งจะมีอำนาจบังคับผู้เช่าเหล่านั้นได้ เช่นห้ามไม่ให้ขายสุรา ยาฝิ่น ห้ามไม่ให้ตั้งร้านเขียนหวย และห้ามไม่ให้ใช้อุบายเครื่องล่อในทางไม่ปรารถนาต่าง ๆ เมืองเล็ก ๆ ที่ได้เกิดขึ้นนี้ จะเป็นเมืองที่ได้เปรียบในการปกครองอยู่บ้างไม่ใช่หรือ พวกเราคงจะนึกกันว่า เมื่อไรหนอจะได้เห็นเมืองเช่นนี้ เมืองที่พอย่างเข้าไปก็รู้สึกว่ากลิ่นไอเป็นวิชาความรู้และความสุภาพ อีก ๕ ปีหรือ ๗ปี หรือมากกว่านั้น แต่ตัวข้าพเจ้าเองต้องสารภาพว่าไม่อยากให้มากกว่านั้นเป็นอันขาด

ประวัติความเป็นมา

คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีประวัติสืบเนื่องมาอย่างยาวนานโดยเริ่มตั้งแต่มีการผลิตครูพลศึกษาในปี พ.ศ. 2456 กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งสถานฝึกหัดครูพลศึกษาขึ้นที่โรงเรียนมัธยมวัดราช-บูรณะ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปัจจุบัน) ใช้ชื่อว่า “ห้องพลศึกษากลาง” สังกัดกรมศึกษาธิการ เปิดสอน 2 วิชา คือ มวยไทยและการดัดตนส่วนห้อยโหนหรือยิมนาสติกส์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 ได้มีการแก้ไขหลักสูตรและเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนพลศึกษากลาง” จัดการเรียนการสอนเฉพาะภาคค่ำเวลา 16.00 น.–19.00 น.
ต่อมากระทรวงธรรมการได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการและได้ตั้งกรมพลศึกษาขึ้นมาในปี พ.ศ.2476 จากนั้นจึงโอนโรงเรียนพลศึกษากลางมาสังกัดกรมพลศึกษาในปี พ.ศ.2479 และย้ายมาอยู่ที่อาคารใหม่ในบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติ พร้อมทั้งมีการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรใหม่เมื่อ ต้นปี พ.ศ. 2483 และในปี พ.ศ. 2493 กรมพลศึกษาได้ปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูพลศึกษาให้สอดคล้องกับการผลิตครูสามัญอื่น มีหลักสูตรการเรียน 5 ปี พร้อมตั้งชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา”
ในปี พ.ศ. 2497 กระทรวงศึกษาธิการได้ขยายโครงการด้านการฝึกหัดครู โดยตั้งเป็นกรมการฝึกหัดครูขึ้นมาเพื่อรวบรวมการฝึกหัดครูในสังกัดต่างๆ มาไว้ด้วยกัน โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาจึงโอนไปสังกัดแผนก ฝึกหัดครูพลานามัย กองโรงเรียนฝึกหัดครู จากนั้นอีกหนึ่งปีกรมพลศึกษาจึงตั้ง “วิทยาลัยพลศึกษา” แทน โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา โดยจัดหลักสูตรการเรียน 4 ปี และ 2 ปี ผู้เรียนสำเร็จจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง
(ป.กศ. สูง พลศึกษา) และ ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ. พลานามัย)
ในปี พ.ศ. 2501 ได้เปิด “โรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย” เนื่องจากกรมการฝึกหัดครูมีนโยบายให้ผลิตครูพลศึกษาในระดับประถมศึกษาเพราะว่าขาดแคลนครูพลศึกษา โดยเปิดรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 หลักสูตรการเรียน 2 ปี ผู้เรียนสำเร็จจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ พลานามัย)
เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2513 กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติประกาศตั้ง “วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา” ขึ้นเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยวิชาการศึกษา โดยมอบให้กรมพลศึกษาดำเนินการผลิตครูพลศึกษาะดับ ปริญญาตรี ผู้เรียนสำเร็จจะได้รับปริญญาการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ. พลศึกษา)
ต่อมาวิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษาได้รับการยกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วิทยาเขตพลศึกษา” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 มีหน้าที่ผลิตครูระดับปริญญาตรีหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกพลศึกษา วิชาโทสุขศึกษา และปริญญาโทหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต วิชาเอกพลศึกษา และวิชาเอกสุขศึกษา ในปีการศึกษา 2518 ได้เปิดสอนนิสิตหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกสุขศึกษา และในปีการศึกษา 2525 ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต 3 วิชาเอก คือ วิชาเอกพลศึกษา วิชาเอกสุขศึกษา และวิชาเอกสันทนาการ
ปี พ.ศ. 2532 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพลศึกษา ได้ยุบวิทยาเขตพลศึกษา
สนามกีฬาแห่งชาติและให้ไปรวมกับคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เป็นคณะพลศึกษาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2532 โดยมีสถานที่ตั้ง 2 แห่งคือ บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ และประสานมิตร มีการเปิดสอนในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต ได้แก่
- หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี ) 2 วิชาเอก คือ พลศึกษา และ สุขศึกษา
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี) 3 สาขาวิชา คือ พลศึกษา สุขศึกษา และ สันทนาการ
- หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (ภาคปกติ) 2 สาขาวิชา คือ พลศึกษา และ สุขศึกษา
ต่อมาในปีการศึกษา 2533 ได้เปิดหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (ภาคพิเศษ) สาขาวิชาพลศึกษา และปีการศึกษา 2534 จึงได้เปิดหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (ภาคพิเศษ) สาขาวิชาสุขศึกษา ปีการศึกษา 2536 คณะพลศึกษาได้รับอนุมัติให้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี)

สาขาวิชาพลศึกษา สุขศึกษา และสันทนาการ
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 โครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้ปรับสถานภาพมาเป็นโครงการจัดตั้งภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะพลศึกษาโดยตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ในปีการศึกษา 2541 โครงการจัดตั้งภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา และในปีการศึกษา 2542 ได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา : การเป็นผู้ฝึกกีฬา
ปีการศึกษา พ.ศ. 2543 เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขศึกษา (ภาคปกติและ ภาคพิเศษ)
ปีการศึกษา พ.ศ. 2544 เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานันทนาการ (ภาคปกติและ ภาคพิเศษ)

สรุปภาพรวมอดีต – ปัจจุบันของคณะพลศึกษา

ห้องพลศึกษากลาง พ.ศ. 2456 – 2461
โรงเรียนพลศึกษากลาง พ.ศ. 2462 – 2492
โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา พ.ศ. 2493 – 2497
วิทยาลัยพลศึกษา พ.ศ. 2498 – 2513
วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา พ.ศ. 2513 – 2517
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา พ.ศ. 2517 – 2532
คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 17 พฤศจิกายน 2532 – ปัจจุบัน



สถาบันการพลศึกษา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Jump to: navigation, ค้นหา

สถาบันการพลศึกษา เดิมคือ วิทยาลัยพลศึกษาทำหน้าที่ผลิตครูโดยเฉพาะครูสอนพลศึกษาและสุขศึกษา แต่ปัจจุบันได้เพิ่มบทบาทในการผลิตบุคลากรด้านวิชาชีพ ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยมีประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งวิทยาลัยพลศึกษาดังนี้ ปี 2456 กระทรวงธรรมการได้จัดตั้ง "ห้องพลศึกษากลาง" ขึ้นที่โรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ (ปัจจุบันคือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) เพื่อเป็นสถานฝึกหัดพลศึกษา มีวิชาเรียน 2 วิชา คือ มวยไทย และการตัดสิน ปี 2462 กรมศึกษาธิการกระทรวงธรรมการได้แก้ไขหลักสูตรและให้ชื่อว่า "โรงเรียนพลศึกษากลาง" สถานที่ตั้งคงอยู่ที่เดิมและกำหนดหลักสูตรใหม่ มี 4 วิชา คือ วิชาลูกเสือ วิชาดัดตนส่วนห้อยโหน วิชาญูญิตสู (ยูโด) และวิชามวยไทย มวยฝรั่ง ถ้าผู้เรียนสอนได้ 2 วิชา จะได้ประกาศนียบัตรครูผู้สอนพลศึกษาชั้นตรี (พ.ต.) สอบได้ 3 วิชา ได้ประกาศนียบัตรครูผู้สอนพลศึกษาชั้นโท (พ.ท.) และถ้าสอบได้ทุกวิชา จะได้ประกาศนียบัตรครูผู้สอบพลศึกษาชั้นเอก (พ.อ.) ระยะเวลาที่ศึกษาตามหลักสูตรไม่แน่นอน อาจเรียนจบในปีเดียว ทั้ง 4 วิชา หรือหลายปีจบก็ได้ ตามความสามารถของแต่ละบุคคล ปี 2476 กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งกรมพลศึกษาขึ้น จึงได้โอนโรงเรียนพลศึกษากลาง มาสังกัดกรมพลศึกษา ในปี 2497 แต่สถานที่ตั้งคงอยู่ที่เดิม ปี 2483 ได้ย้ายมาอยู่อาคารใหม่ บริเวณ กรีฑาสถานแห่งชาติ กรมพลศึกษาได้ปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรโดยแบ่งวิชา ออกเป็น 2 หมวด คือ หมวดวิชาบังคับ ได้แก่ จรรยาครู ลูกเสือ สุขศึกษา ปฐมพยาบาล กายบริหาร กรีฑาและกีฬา หมวดวิชาไม่บังคับ มี 4 วิชา มี มวยไทย มวยสากล กระบี่กระบองและฟันดาบ ดัดตนส่วนห้อยโหนและญูญิตสู เมื่อผู้เรียนสอบวิชาบังคับได้แล้ว จะได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูพลศึกษาตรี (พ.ต.) ถ้าสอบได้ในหมวดวิชาไม่บังคับอีก 2 ชุดจะได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูพลศึกษาโท (พ.ท.) ถ้าสอบได้หมด 4 ชุดจะได้ประกาศนียบัตรประโยคครูพลศึกษาเอก (พ.อ.) ปี 2493 กรมพลศึกษาได้ปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูพลศึกษาให้สอดคล้องกับการผลิตครูสามัญ
อื่น ๆ
โดยมีหลักสูตร 5 ปี และให้ชื่อโรงเรียนใหม่ว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา" รับนักเรียน
ที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เฉพาะผู้ที่ได้รับทุนของจังหวัด โดยจังหวัดทำการคัดเลือก มาจังหวัดละ 2 คน (เฉพาะชาย) การเรียนเป็นแบบประจำ โดย วิชาที่เรียนมี 5 หมวด คือ หมวดวิชาครูและสังคมศึกษา หมวดวิชาภาษาอังกฤษ หมวดวิชาภาษาไทย หมวดวิชาพลศึกษา (กรีฑาและกีฬา) หมวดวิชาประกอบ มีสุขศึกษา อนามัย สรีระกายวิภาคศาสตร์ ชีววิทยาและการเล่นเข้าจังหวะ ผู้ที่เรียนจบปี 1 จะได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูพลศึกษาตรี (พ.ต.) จบปีที่ 3 ได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูพลศึกษาโท (พ.ท.) และจบปีที่ 5 ได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูพลศึกษาเอก (พ.อ.) ปี 2497 โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาได้เปิดรับนักเรียนในส่วนกลาง โดยโรงเรียนสอบคัดเลือกเอง เรียนและไป-กลับ และรับนักเรียนหญิงด้วยและในปีเดียวกันนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ขยายโครงการด้านการฝึกหัดครูขึ้นเพื่อจะได้ รวบรวมการฝึกหัดครู ซึ่งอยู่ในสังกัดต่าง ๆ มาอยู่ด้วยกันโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา จึงได้โอนไปสังกัดแผนกฝึกหัดครูพลานามัยกองโรงเรียน ฝึกหัดครูกรมการฝึกหัดครู ปี 2498 กรมพลศึกษาได้ขอจัดตั้ง "วิทยาลัยพลศึกษา" ขึ้นแทนโรงเรียนฝึกหัดครู โดยมีหลักสูตรการเรียน 4 ปี และ 2 ปี หลักสูตร 4 ปี ทำการรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนหลักสูตร 2 ปี รับนักเรียนที่สำเร็จเตรียมอุดมหรือเทียบเท่าซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (พลศึกษา) หรือ ป.กศ.สูง (พลศึกษา) ปี 2501 กรมพลศึกษาได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัยขึ้น โดยรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษา มีหลักสูตร 2 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (พลานามัย) ส่วนวิทยาลัยพลศึกษายังคงผลิตหลักสูตร 2 ปีเท่านั้น ปี 2511 กระทรวงศึกษาธิการได้ระงับการผลิตครูระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (พลานามัย) และมอบหมายให้ กรมพลศึกษาดำเนินการผลิตครู เฉพาะระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (พลศึกษา) เพียงอย่างเดียว ปี 2513 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติการจัดตั้งวิทยาลัยพลศึกษาเป็นวิทยาลัย วิชาการศึกษา (พลศึกษา) โดยถือเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัย วิชาการศึกษา สังกัดกรมการฝึกหัดครูทั้งนี้เพื่อผลิตครูพลศึกษาระดับปริญญาตรี โดยมอบให้กรมพลศึกษาเป็น ผู้รับผิดชอบซึ่งต่อมาได้โอนไปเป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สำหรับอัตรากำลังของวิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษาเดิมนั้น ยังคงเป็นของกรมพลศึกษาอยู่ โดยเรียกส่วนงานนี้ว่าวิทยาลัยพลศึกษาส่วนกลาง แต่ยังไม่รับนักศึกษา เพราะกรมพลศึกษามีนโยบายที่จะขยายการผลิตครูพลศึกษาไปยังส่วนภูมิภาคโดยทั่วถึงก่อน แล้วถึงจะไปขยายในส่วนกลางภายหลัง ดังนั้นในปี 2513 กรมพลศึกษาจึงได้จัดเตรียมงานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการผลิตครูพลศึกษาไปยังส่วนภูมิภาคภายใต้ การดำเนินงานของ ดร.สำอาง พ่วงบุตร โดยใช้สถานที่กรมพลศึกษาเป็นที่เตรียมงาน ปี 2514 กรมพลศึกษาจึงขอเปิดวิทยาลัยพลศึกษาในส่วนภูมิภาคขึ้นเป็นแห่งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเชียงใหม่" สังกัดกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในปีแรกทำการผลิตครูพลศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (พลศึกษา) และในปีต่อ ๆ มา จึงผลิตครูสุขศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการ -ศึกษาชั้นสูง (สุขศึกษา) หลังจากเปิดวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค เป็นแห่งแรกวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดมหาสารคามเป็นแห่งที่สอง แล้ว กรมพลศึกษาก็ได้ขยายเปิดวิทยาลัยพลศึกษาในส่วนภูมิภาคแห่งอื่น ๆ อีก ตามนโยบายที่ได้วางไว้ จนมีวิทยาลัยพลศึกษารวมทั้งสิ้น 17 แห่ง

ปี 2537 จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนขึ้นในวิทยาลัยพลศึกษา 17 แห่งทั่วประเทศ เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาลัยชุมชนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

ปี 2545 เป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ (กรมพลศึกษาเดิม) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545

ปี 2548 ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา พ.ศ. 2548 สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีทั้งสิ้น 17 วิทยาเขตทั่วประเท






















วิทยาลัยพลศึกษา

ประวัติ
วิทยาลัยพลศึกษา เป็นส่วนราชการเทียบเท่ากอง สังกัดกรม พลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อนที่จะมาเป็นวิทยาลัยพลศึกษาในปัจจุบันนั้น ฟอง เกิดแก้ว (ฟอง เกิดแก้ว 2523 : 17-25 ) ได้กล่าวถึง การผลิตครูพลศึกษาเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ณ สามัคยาจารย์สมาคม ในบริเวณโรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปัจจุบัน) เรียกว่า "สโมสร กายบริหาร" ต่อมา พ.ศ. 2456 มีการปรับปรุงสโมสรกายบริหารเป็นเอกเทศขึ้น โดยให้ชื่อว่า "ห้องพลศึกษากลาง" สังกัดกรมศึกษาธิการ กระทรวง ธรรมการ มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยส่งเสริมการพลศึกษา การกีฬา และการผลิตครูพลศึกษาออกไปสอนพลศึกษาในโรงเรียนต่าง ๆ โดยให้เรียนเพียง 2 วิชา คือ มวยไทย และการดัดตนส่วนห้อยโหน (ยิมนาสติกส์) เท่านั้น

ต่อมาพ.ศ. 2462 กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ได้แก้ไขหลักสูตรใหม่ และ ใช้ชื่อสถานที่ฝึกหัดพลศึกษาใหม่ว่า "โรงเรียนพลศึกษากลาง" โดยใช้สถานที่เดิม เรียนเฉพาะภาคค่ำเวลา 16.00-19.00 น. มีวิชาเรียน 4 วิชา คือวิชาลูกเสือ วิชาดัดตนส่วนห้อยโหน (ยิมนาสติกส์) วิชาญูญิตสู (ยูโด) และวิชามวยไทย มวยฝรั่ง (สากล) รวมทั้งฟันดาบ ผู้เรียนส่วนมากเป็นครูสอนวิชาสามัญ ผู้ใดสอบได้ 2 วิชา ได้รับประกาศนียบัตรครูสอนพลศึกษาชั้นตรี (พ.ต.) สอบได้ 3 วิชา ได้รับประกาศนียบัตรครูสอนพลศึกษาชั้นโท (พ.ท.) สอบได้ 4 วิชา ได้รับประกาศนียบัตรครูสอน พลศึกษาเอก (พ.อ.) ระยะเวลาที่ศึกษาตามหลักสูตรไม่ได้กำหนดไว้ตายตัว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งกรมพลศึกษาขึ้น จึงได้โอนโรงเรียน พลศึกษากลางมาสังกัดกรมพลศึกษาในปี พ.ศ. 2479 แต่ยังตั้งอยู่สถานที่เดิม และใน พ.ศ. 2483 ได้ย้ายสถานที่มาอยู่อาคารใหม่บริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติ กรมพลศึกษา ได้ปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรใหม่โดยแบ่งวิชา ออกเป็น 2 หมวด คือ

หมวดวิชาบังคับได้แก่ วิชาจรรยาบรรณครู ลูกเสือ สุขศึกษา ปฐมพยาบาล กายบริหาร กรีฑา และกีฬา (กีฬาหญิงมีเบสบอล วอลเลย์บอล กีฬาชายมี บาสเกตบอล ฟุตบอล ตะกร้อ)
หมวดวิชาไม่บังคับ มี 4 วิชาคือ
มวยไทย และมวยสากล
กระบี่กระบอง และฟันดาบ
ดัดตนส่วนห้อยโหน (ยิมนาสติกส์)
ญูญิตสู (ยูโด)
ตามหลักสูตรนี้เมื่อผู้เรียนสอบวิชาบังคับได้แล้วจะได้รับประกาศนียบัตรประโยคครู พลศึกษาตรี (พ.ต.) และได้หมวดวิชาไม่บังคับอีก 2 วิชา ได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูพลศึกษาโท (พ.ท.) ถ้าสอบได้หมด 4 วิชา ได้รับประกาศนียบัตรประโยค ครูพลศึกษาเอก (พ.อ.)

พ.ศ. 2493 กรมพลศึกษาได้ปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูพลศึกษาให้สอดคล้องกับการผลิต ครูสามัญอื่น ๆ โดยมีหลักสูตร 5 ปี และเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา" รับนักเรียนจบ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เฉพาะผู้ที่ได้รับทุนของจังหวัด โดยให้จังหวัดสอบคัดเลือกมาจังหวัดละ 2 คน (เฉพาะชาย) การเรียนเป็นแบบประจำ วิชาที่เรียนมี 5 หมวดวิชา คือ

หมวดวิชาครู และสังคมศึกษา
หมวดวิชาภาษาอังกฤษ
หมวดวิชาภาษาไทย
หมวดวิชาพลศึกษา (กีฬาและกรีฑา)
หมวดวิชาประกอบ มีสุขศึกษา อนามัย สรีระกายวิภาคศาสตร์ ชีววิทยา และกิจกรรม เข้าจังหวะ
ผู้เรียนจบชั้นปีที่ 1 ได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูพลศึกษาตรี (พ.ต.) จบปีที่ 3 ได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูพลศึกษาโท (พ.ท.) และจบปีที่ 5 ได้รับประกาศนียบัตรประโยคครู พลศึกษาเอก (พ.อ.) ต่อมาปี พ.ศ. 2497 ได้เปิดรับสมัครผู้เรียนจากส่วนกลาง โดยทำการสอบคัดเลือกเอง เรียนแบบไป-กลับ และรับนักเรียนหญิงด้วย ในปีนี้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขยายโครงการด้าน การฝึกหัดครูโดยจัดตั้งกรมการฝึกหัดครูขึ้น เพื่อจะได้รวบรวมการฝึกหัดครูซึ่งอยู่ในสังกัดต่าง ๆ มาอยู่ด้วยกัน โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาจึงได้ขอจัดตั้ง "วิทยาลัยพลศึกษา" ขึ้นแทน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2496 โดยมีหลักสูตรการเรียน 4 ปี และ 2 ปี สำหรับหลักสูตร 4 ปี รับนักเรียนที่สำเร็จมัธยมปีที่ 6 ส่วน หลักสูตร 2 ปี รับนักเรียนที่สำเร็จชั้นเตรียมอุดมศึกษา หรือเทียบเท่า ทั้ง 2 หลักสูตรนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (พลศึกษา) หรือ ป.กศ.สูง (พลศึกษา)

เนื่องจากจำนวนครูพลศึกษาไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา กรมการฝึกหัดครูจึงกำหนดนโยบายผลิตครู เพื่อสอนวิชาพลศึกษาในระดับนี้ขึ้น แต่เนื่องจากขาดผู้ที่ จะมาดำเนินการในเรื่องนี้ จึงได้ฝากให้กรมพลศึกษาดำเนินการแทนในปี พ.ศ. 2501 จึงได้ตั้ง "โรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย" ขึ้นเพื่อรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลักสูตร 2 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (พลานามัย) ส่วนวิทยาลัยพลศึกษาคงผลิตครูพลศึกษาใน ระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (พลศึกษา) เพียงอย่างเดียว

ต่อมาปี พ.ศ. 2513 วิทยาลัยพลศึกษาได้ขยายหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีโดยเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยวิชาการศึกษา กรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการโดยใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยวิชาการ ศึกษาพลศึกษา" รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษา หรือเทียบเท่าเข้าศึกษาในหลักสูตร 4 ปี และรับผู้สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (พลศึกษา) เข้าศึกษาในหลักสูตร 2 ปี โดย กรมพลศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ ต่อมาปี พ.ศ. 2517 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อันเป็นผลทำให้วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา ได้รับการยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพลศึกษา" สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย

สำหรับการผลิตครูพลศึกษา ของวิทยาลัยพลศึกษา สังกัดกรมพลศึกษานั้น กรมพลศึกษาได้มีนโยบายที่จะขยายการผลิตครูพลศึกษาไปยังส่วนภูมิภาค และได้ดำเนินการเปิดวิทยาลัยพลศึกษาใน ส่วนภูมิภาคแห่งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2514

ปีการศึกษา 2522 ได้เปิดรับนักศึกษาในวิทยาลัยพลศึกษาที่มีอยู่เดิมและกรมพลศึกษา เห็นสมควรให้เปลี่ยนชื่อ วิทยาลัยพลศึกษา เสียใหม่เพื่อความเหมาะสมและ ป้องกันการสับสนในการเรียกชื่อ ตลอดจนการติดต่อประสานงานกับวิทยาลัย โดยขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการอาศัยอำนาจตามความในข้อ 23 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2515 จึงได้เปลี่ยนชื่อ "วิทยาลัยพลศึกษา" เป็น "วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพ" ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2522 โดยใช้สระว่ายน้ำโอลิมปิค สนามกีฬาแห่งชาติเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน และ ปีการศึกษา 2525 วิทยาลัย พลศึกษากรุงเทพ ได้ย้ายมาอยู่เลขที่ 69 หมู่ 3 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เป็นที่ดินของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับบริจาค จากท่านผู้หญิงสุทธิอรรถ นฤมนตร์ (คุณฉลวย เลขยานนท์) บุตรีพระยาพรหมทัตศรีพิลาศ (แฉล้ม มิตรานนท์) เป็นเนื้อที่จำนวน 133 ไร่ 75 ตารางวา ด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ระยะแรกได้ทำการผลิตครู สอนวิชาพลศึกษา จากนั้น ได้มีการพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา ชั้นสูง พ.ศ.2542 กำหนดให้เรียนไม่น้อยกว่า 90 หน่วยกิต โดยเปิดสอนวิชาเอก พลศึกษา

ปีการศึกษา 2533 วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพ สมทบกับสถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผลิตบุคลากรระดับปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตร์ สายวิทยาศาสตร์การกีฬา โปรแกรมวิชาการฝึกและการจัดการกีฬา ต่อมาปีการศึกษา 2535 ได้พัฒนาหลักสูตรเป็น สาขา วิทยาศาสตร์โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา (การฝึกและการจัดการกีฬา)

ปีการศึกษา 2538 ได้เพิ่มหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สาขาศิลปศาสตร์ สายนิเทศศาสตร์ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ (แขนงวิชาสื่อสารการกีฬา) ตามโครงการสมทบกับสถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ในปีการศึกษา 2538 กรมพลศึกษาได้มอบหมายให้วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพ ขยายการศึกษาเพื่อให้บริการชุมชนในท้องถิ่น โดยดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนบึงน้ำรักษ์ในวิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพ และเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาวิชาการกีฬาและสุขภาพ และ สาขาวิชาพณิชยการ และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง อีก 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ , สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ , สาขาวิชาบริหารธุรกิจ และสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม

ปีการศึกษา 2541 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สาขาวิทยาศาสตร์ สายวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา (การฝึกและการจัดการกีฬา) ตามโครงการ สมทบสถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ปีการศึกษา 2543 เปิดสอนหลักสูตร ปริญญา 2 ปี หลังอนุปริญญา ครุศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาพลศึกษา สมทบกับสถาบันราชภัฎเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ปีการศึกษา 2544 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีการศึกษาบัณฑิต (พลศึกษา) เทียบ 4 ปี ตามโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกับกรมพลศึกษา

วันที่ 3 กรกฎาคม 2545 ได้มีการแต่งตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขึ้น และมีการโอนหน่วยงานวิทยาลัยพลศึกษา ให้มาสังกัดสำนักพัฒนาบุคลากร สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการขึ้น

ผลิตบุคลากรด้านพลศึกษา สุขศึกษา นันทนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและตลาดแรงงาน ศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางการศึกษา และอาชีพ เพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นศูนย์ส่งเสริมเผยแพร่และฝึกอบรมกิจกรรมกีฬาขั้นพื้นฐาน กีฬาเพื่อสุขภาพ กีฬาเพื่อ การแข่งขัน และกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ
ฝึกอบรมเยาวชน ประชาชนและบุคลากรสาขาวิชาชีพต่างๆ ตามความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น ให้บริการด้านวิชาการวิชาชีพแก่ชุมชนและท้องถิ่น ส่งเสริมและดำเนินการในการทำนุ บำรุง อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น